วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รองเท้าแบบไหนไม่ควรใส่ขับรถเด็ดขาด

 

     การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมเพื่อใส่ระหว่างการขับรถ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะหากเลือกรองเท้าที่มีลักษณะหลวม หรือคู่ใหญ่เกินไป ก็อาจทำให้การควบคุมแป้นคันเร่งและเบรกทำได้ไม่ดีพอ และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้


     ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า "รองเท้า" กับ "การขับรถ" ส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่มากกว่าที่หลายคนคิด เนื่องจากที่ผ่านมามีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากรองเท้าจำนวนไม่น้อย เช่น รองเท้าขัดกับแป้นเบรก จนทำให้เหยียบเบรกไม่ลง หรือรองเท้ามีขนาดใหญ่เทอะทะจนทำให้เผลอเหยียบแป้นคันเร่งและแป้นเบรกพร้อมกัน เป็นต้น


ขับรถเท้าเปล่าได้หรือไม่?

     กฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามถอดรองเท้าขณะขับรถใดๆ ทั้งสิ้น (นอกเสียจากว่าคุณคือผู้ให้บริการขับรถสาธารณะ ซึ่งจำเป็นต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยในระหว่างการให้บริการเสมอ) ซึ่งการถอดรองเท้าขับรถมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ เท้าของคุณจะสัมผัสกับแป้นคันเร่งหรือแป้นเบรกโดยตรง ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักเท้าได้อย่างแม่นยำมากกว่า คุณจึงสามารถบังคับรถได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า


     แต่การถอดรองเท้าขับรถก็มีข้อควรระมัดระวัง คือ รองเท้าอาจไหลลื่นไปคาอยู่ใต้แป้นเบรก ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่สุด หรือร้ายแรงกว่านั้นคือมีส่วนใดส่วนหนึ่งของรองเท้าพาดขึ้นไปอยู่บนแป้นคันเร่ง เมื่อผู้ขับขี่เหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็ว คันเร่งก็จะถูกกดไปพร้อมกันด้วย ทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทันจนเกิดเป็นอุบัติเหตุตามมา


รองเท้าแบบไหนไม่ควรใส่ขับรถ

     ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ สำหรับการเลือกรองเท้าใส่ขณะขับรถ เพียงแต่ควรเลือกคู่ที่มีขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไป รวมถึงไม่หลวมเสียจนอาจหลุดจากเท้าได้ง่าย ถึงกระนั้นก็ยังมีรองเท้าบางประเทภที่ควรหลีกเลี่ยงขณะขับรถ ดังนี้


     1.รองเท้าส้นสูง การใส่รองเท้าส้นสูงขณะขับรถจะทำให้สรีระของเท้าผิดแปลกไป ส่งผลให้ควบคุมแป้นคันเร่งและแป้นเบรกได้ไม่ถนัด ทางดีที่ควรเปลี่ยนเป็นรองเท้าประเภทอื่นในระหว่างขับรถจะดีกว่า


     2.รองเท้าแตะ แม้ว่ารองเท้าแตะจะสวมใส่ง่าย ใส่สบาย เหมาะสำหรับวันที่อากาศร้อนๆ แต่หากใส่ในขณะขับรถก็มีโอกาสสูงที่รองเท้าจะหลุดออกจากเท้า ทำให้เกิดความสับสนในการควบคุมแป้นคันเร่งหรือเบรกได้


     3.รองเท้าขนาดใหญ่พิเศษ การใส่รองเท้าที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป พื้นรองเท้าอาจเผลอไปกดแป้นคันเร่งขณะเหยียบเบรกได้ จนนำไปสู่อุบัติเหตุได้ในที่สุด

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น