วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ถอดเสื้อขับรถ" ผิดกฎหมายของไทยหรือไม่?

      เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า "การถอดเสื้อขับรถ" ถือเป็นความผิดตามกฎหมายไทย แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือเปล่านะ?


     การถอดเสื้อขับรถ ผิดกฎหมายจริงไหม? คำตอบคือ "จริง" แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับใช้กับประชาชนทั่วไปหรอกนะครับ หากแต่บังคับเฉพาะผู้ประจำรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เท่านั้น เช่น คนขับแท็กซี่, คนขับรถโดยสารประจำทาง, คนขับรถขนส่ง รวมถึงผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


     พ.ร.บ. ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (1) ระบุว่า ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องแต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง หากฝ่าฝืนมีการกำหนดโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท



     โดยกฎกระทรวงได้กำหนดเครื่องแต่งกายผู้ขับรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถยนต์สาธารณะ, รถยนต์บริการธุรกิจ และรถยนต์บริการทัศนาจร ต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อยและรัดกุมด้วยเครื่องแต่งกาย ดังต่อไปนี้


     (1) เสื้อเชิ้ตคอตั้งหรือคอพับ แขนยาวหรือแขนสั้น ไม่มีลวดลาย การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกง ยกเว้นเสื้อที่โดยสภาพไม่ต้องสอดชายล่างให้อยู่ภายในกางเกง

     (2) กางเกงขายาวไม่มีลวดลาย

     (3) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ


     ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่พบว่ามีกฎของกระทรวงหรือพระราชบัญญัติข้อใดระบุถึงการห้ามถอดเสื้อขับรถยนต์ส่วนบุคคล แม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ก็ตาม จึงสบายใจได้ว่าไม่มีความผิดตามกฎหมายอย่างแน่นอน

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น