วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

แนะนำ 3 ทางออกใช้ได้จริงสำหรับคนผ่อนรถต่อไม่ไหว


     หลายคนที่กำลังเผชิญปัญหาลักษณะนี้ อาจถูกเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์โน้มน้าวให้คืนรถกับบริษัทไฟแนนซ์ (พูดง่ายๆ คือ ปล่อยให้โดนยึดนั่นแหละ) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อไฟแนนซ์ยึดรถคืนไปแล้ว ก็จะนำไปขายหรือประมูลต่อในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ยกตัวอย่าง หากราคากลางรถมือสองรุ่นนั้นอยู่ประมาณ 400,000 บาท ไฟแนนซ์อาจขายรถไปในราคาเพียง 200,000 บาท ซึ่งส่วนต่างนี้จะถูกนำมาเรียกเก็บกับผู้เช่าซื้ออีกครั้งพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่างๆ และยังมีสิทธิ์ถูกฟ้องได้ วิธีนี้จึงทำให้ผู้เช่าซื้อยังคงวนเวียนอยู่ในบ่อหนี้แม้ว่าจะไม่มีรถใช้แล้วก็ตาม
     แต่อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถนำเงินมาชำระค่างวดได้จริงๆ ยังพอมีทางออกเพื่อบรรเทาหนี้ก้อนนี้ได้ แลกกับการกัดฟันยอมเหนื่อยขึ้นอีกเล็กน้อย ดังนี้
1.ขายดาวน์ต่อ
     กรณีที่มูลค่ารถยนต์ในขณะนั้นสูงกว่ายอดหนี้ที่เหลือ เราสามารถใช้วิธีขายดาวน์ต่อให้ผู้อื่นได้ วิธีนี้จะเป็นการขายต่อรถให้ผู้อื่น โดยผู้ซื้อต่อจะต้องนำเงินสดมาเป็นเงินดาวน์ให้กับเรา จากนั้นจึงเปลี่ยนสัญญาให้ผู้ซื้อผ่อนชำระค่างวดส่วนที่เหลือต่อไป วิธีนี้จะทำให้เราได้เงินติดมือกลับมาบ้าง

2.เปลี่ยนสัญญาให้ผู้อื่นผ่อนต่อ
     หากมูลค่ารถยนต์ในขณะนั้นต่ำกว่ายอดหนี้ที่เหลืออยู่ คงไม่มีใครควักเงินดาวน์มาจ่ายคุณอย่างแน่นอน วิธีนี้คงต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการเปลี่ยนสัญญาแบบฟรีๆ โดยให้ผู้ซื้อต่อรับผิดชอบยอดหนี้ที่เหลือ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องเปลี่ยนชื่อในสัญญาเป็นผู้ซื้อต่อด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเชิดรถหนีในภายหลัง ซึ่งคุณเองก็จะต้องผ่อนต่อโดยไม่มีรถใช้ แถมยังเสี่ยงถูกข้อหายักยอกทรัพย์ด้วย เนื่องจากรถยังเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์ ผู้ครอบครองไม่มีสิทธิ์นำไปขายหรือยกให้ผู้อื่นต่อ
3.รีไฟแนนซ์รถยนต์
     การรีไฟแนนซ์รถเป็นอีกทางออกหนึ่งในการยืดระยะเวลาผ่อน เพื่อให้ยอดผ่อนต่อเดือนน้อยลง และหลีกเลี่ยงปัญหามีประวัติเสียกับเครดิตบูโร ซึ่งวิธีนี้ต้องทำใจกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงิน แถมยังต้องเป็นหนี้ยาวนานขึ้นด้วย และหากคุณยังไม่สามารถจัดการปัญหาทางการเงินของคุณได้โดยเร็ว ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ที่จะตามมาอีกในอนาคต
     เหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ต้นเหตุสำคัญที่สุด คือ การประเมินความสามารถในการผ่อนชำระตั้งแต่แรก อย่าให้ความโลภเข้ามาบังตา เพราะในที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาตามมาในอนาคต
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

อาการเบรก “สั่น..สู้เท้า” เกิดจากอะไร?


     อุปกรณ์ห้ามล้อรถหรือที่เรียกว่า “เบรก” เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ แต่มีความหมายกับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และผู้ร่วมเดินทางเป็นอย่างมาก ระบบเบรกจึงถือเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งในการช่วยหยุดรถ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นคุณจึงไม่ควรมองข้ามความปลอดภัยอย่างเด็ดขาด เมื่อเท้าแตะเบรกแล้วเกิดอาการผิดปกติต้องรีบเช็กทันที
     อาการเหยียบเบรกแล้ว “สั่น..สู้เท้า” ก็เป็นอีกสาเหตุที่ต้องนำรถเข้าไปตรวจเช็ก โดยผู้ขับรถพอจะคาดเดาอาการได้เบื้องต้นเมื่อตอนเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกสั่น สะท้านมายังฝ่าเท้า และลุกลามไปถึงพวงมาลัยรถ ส่วนสาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ชิ้นส่วนใดชำรุดนั้น ลองอ่านให้จบแล้วคุณจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย
     สาเหตุเบรก “สั่น..สู้เท้า มีดังนี้
- คาลิปเปอร์เบรกชำรุด ระบบภายในอาจเกิดเป็นสนิมเกาะตัวจนขยับไม่ได้ ก็จะสั่นสู้เท้า ให้ช่างถอดออกมาล้างแล้วใส่จารบีใหม่
- จานเบรกเกิดการผิดรูปทรง เช่น คด โก่ง เอียง ทำให้ผ้าเบรกเกิดการจับตัวไม่สม่ำเสมอ เมื่อเราเอาเท้าเหยียบแป้นเบรกจึงเกิดการสั่นสู้เท้าขึ้นมา อาการนี้จะหายไปหากคุณเจียรจานผิวหน้าให้เรียบ หรือหากจานเบรกบางมากก็แนะนำเปลี่ยนจานใหม่ราคาต่างกันประมาณหลักพันต้นๆ แล้วแต่รุ่นยี่ห้อ

     การเจียรจานเบรก มีอยู่ 2 แบบ คือ
- เจียรจานด้วยแท่นเจียร เป็นการถอดจานเบรกออกจากตัวรถเพื่อนำไปเข้าเครื่องเจียร มีค่าใช้จ่ายประมาณล้อละ 200 บาท
- เจียรจานประชิดล้อ เป็นการเจียรแบบไม่ต้องถอดจานเบรกออกจากรถนำเครื่องเจียรวางประชิดจานเบรก แล้วทำการเจียร แต่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าแบบแรกประมาณล้อละ 400 บาท
     สังเกตอย่างไรหากต้องการเจียรจานหรือเปลี่ยนจานเบรก
- จานเบรกมีการสึกหรอมีร่องเป็นเส้น และโก่ง เอียง
- จานมีเบรกมีสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเกิดจากความร้อนสะสม และการใช้งานอย่างรุนแรงทำให้จานเสื่อมสภาพ
- จานเบรกมีสนิมเกาะติดแน่นอย่างถาวร
     นอกจากจานเบรก ผ้าเบรก คาลิปเปอร์เบรก สายอ่อนเบรกก็มีความสำคัญ หากเกิดการแตกร้าวรั่วซึมก็ต้องเปลี่ยนทันที อย่าลืมว่าระบบเบรกคือชิ้นส่วนสำคัญสำหรับชีวิตคุณ ไม่ใช่เพียงอาการสั่นสู้เท้าเท่านั้น หากสงสัยว่าผิดปกติก็ควรให้ช่างผู้ชำนาญการเช็กโดยทันที
ที่มา:sanook

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

อาการ 'วาล์วยัน' คืออะไรกันแน่? พร้อมวิธีแก้ไขก่อนสายเกินไป


     วาล์วยัน อาการผิดปกติของเครื่องยนต์ ที่ส่วนใหญมักเกิดขึ้นกับรถที่ใช้แก๊สมากกว่ารถที่ใช้น้ำมันธรรมดา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้เป็นเพราะความร้อนในห้องเผาไหม้ที่สูงขึ้น จนทำให้เกิดการสึกหรอเร็วขึ้นนั่นเอง (อุณหภูมิการใช้น้ำมันปกติ 400 องศา แก๊ส LPG 600 องศา และ NGV 800 องศา)
     สำหรับตัววาล์วนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ วาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย โดยส่วนใหญ่ตัววาล์วมักจะทำจากโลหะ ลักษณะก้านวาล์วจะกลมเป็นทรงกระบอก และประจำการอยู่ในปลอกวาล์ว ซึ่งด้านบนจะถูกเจาะเป็นรูบนฝาสูบยาวไปจนถึงห้องเผาไหม้ นอกจากนี้ปลายของวาล์วทั้ง 2 ด้าน จะยึดติดกับเพลาลูกเบี้ยว หรือกระเดื่องวาล์ว ส่วนปลายอีกด้านจะสัมผัสกับวาล์ว ดังนั้นเมื่อวาล์วเปิดออกอากาศก็จะไหลเข้า-ไหลออกจากห้องเผาไหม้ได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่วาล์วปิดหน้าวาล์วก็จะคืนกลับเข้าที่ด้วยแรงของสปริง

     อาการวาล์วยัน สามารถแบ่งออกได้หลายอาการ ดังนี้
1. เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เร่งไม่ขึ้น เหยียบแล้วไม่ไปเหมือนเมื่อก่อน
2. เครื่องยนต์สั่น เบา ดับ โดยเฉพาะตอนเช้า จะเห็นอาการได้ชัด เนื่องจากเครื่องยังเย็นอยู่
3. เครื่องยนต์สั่น กระตุก รอบต่ำกว่าเดิม เมื่อเปิดแอร์ และยังทำให้เครื่องดับได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แถมแอร์ยังไม่ค่อยเย็นอีกด้วย
4. วาล์วเริ่มส่งเสียงดัง เครื่องยนต์เบาดับง่ายกว่าเดิม เช่น เข้าเกียร์ก็ดับ ตีวงเลี้ยวก็ดับ ฯลฯ
     วิธีแก้ไขอาการวาล์วยัน
1. ปรับตั้งวาล์วใหม่ โดยตรวจเช็กทุกๆ 80,000 กิโลเมตร สำหรับรถใช้น้ำมัน ส่วนรถใช้แก๊สให้ตรวจเช็กทุกๆ 40,000 - 60,000 กิโลเมตร
2. เจียบ่าวาล์ว หากปรับตั้งวาล์วใหม่แล้วยังกลับมาเป็นอาการเดิมอีก
3. ตีบ่าวาล์วใหม่ โดยการนำวัสดุที่ทนความร้อนได้ดี และแข็งแรงกว่าใส่เข้าไปแทน
4. เปลี่ยนฝาสูบใหม่ไปเลย แม้วิธีนี้จะใช้เงินมากสุด แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาได้ชัวร์ที่สุดเหมือนกัน
     หากคุณจับสังเกตอาการวาล์วยันได้ตั้งแต่ที่มันเริ่มเป็นแรกๆ ให้รีบนำรถเข้าอู่ หรือศูนย์บริการทันที ดีกว่ารอให้วาล์วยันมากแล้วจึงค่อยนำไปซ่อม เพราะมันอาจจะปรับตั้ง หรือแก้ไขไม่ทันแล้วนั่นเอง
ที่มา:sanook