วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

แนะนำ 4 เทคนิคขับรถลุยน้ำท่วมไม่ให้รถพัง

      ในช่วงที่มีฝนตกกระหน่ำแทบทุกวันจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่เช่นนี้ การขับรถลุยน้ำท่วมโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถได้ ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องยกเครื่องยนต์ใหม่เลยก็มี จึงขอแนะนำ 4 เทคนิคขับรถลุยน้ำท่วมไม่ให้รถพังมาฝากกัน


การขับรถลุยน้ำท่วมสร้างความเสียหายกับตัวรถได้อย่างไร?

     รถยนต์แต่ละคันถูกพัฒนาให้สามารถลุยน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ารถประเภทเอสยูวีและรถกระบะจะมีความสามารถในการลุยน้ำได้ลึกกว่ารถเก๋งอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น หากอ้างอิงตามที่ผู้ผลิตกำหนดจะพบว่ารถกระบะยกสูงสามารถลุยน้ำที่มีระดับความลึกได้ราว 800 มิลลิเมตร ซึ่งรถเก๋งทั่วไปสามารถลุยน้ำได้ต่ำกว่านั้นมาก มิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้


     ความเสียหายที่น่าเป็นห่วงที่สุดจากการขับรถลุยน้ำ คือ น้ำจะถูกดูดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์แทนที่จะเป็นอากาศตามปกติ ทำให้การจุดระเบิดชะงักลง ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับลงในทันที ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อน้ำเข้าไปยังกระบอกสูบที่มีแรงดันมหาศาลอยู่ภายใน ก็จะเกิดเป็นแรงต้านการอัดของลูกสูบ ส่งผลให้ก้านสูบเกิดการคดงอ หรือหากน้ำเข้าไปเป็นปริมาณมากก็อาจรุนแรงถึงขั้นแตกหักได้เลย


     ซึ่งความเสียหายจากกรณีก้านสูบคดหรือหักถือเป็นปัญหาใหญ่ และมักจะมีปัญหาอื่นๆ พ่วงตามมาด้วย ขณะที่ค่าซ่อมก็ต้องกำเงินไว้อย่างน้อยๆ 30,000 บาท จนบางคนถึงขั้นยอมยกเครื่องใหม่ไปเลยก็มี

วิธีขับรถลุยน้ำอย่างปลอดภัยทำอย่างไร?

     หากมีความจำเป็นจะต้องขับรถลุยน้ำจริงๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้วล่ะก็ คุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ 4 ข้อนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับตัวรถให้น้อยที่สุด ประกอบด้วย


     1.เลือกใช้ช่องทางที่น้ำตื้นที่สุด - โดยปกติแล้วพื้นถนนฝั่งชิดฟุตบาทจะมีระดับน้ำท่วมขังลึกที่สุด ทางที่ดีหากถนนมีหลายช่องทางจราจร ควรเลือกช่องทางที่มีน้ำตื้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะถูกดูดเข้าเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุด


     2.ใช้ความเร็วต่ำ หลีกเลี่ยงการเร่งเครื่องโดยไม่จำเป็น - การลุยน้ำควรใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลื่นด้านหน้ารถที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวรถและผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเร่งเครื่องยนต์โดยไม่จำเป็น เพราะหากน้ำถูกดูดเข้าเครื่องยนต์จะทำให้มีโอกาสที่ก้านสูบได้รับความเสียหายหนัก


     3.หากน้ำลึกให้ปิดแอร์ - ลองสังเกตว่าถ้าระดับน้ำสูงจนแตะพื้นใต้ท้องรถแล้วล่ะก็ ควรรีบปิดระบบปรับอากาศทันทีเพื่อให้พัดลมไฟฟ้าหยุดทำงาน มิเช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายกับใบพัดลม จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้


     4.หลังลุยน้ำให้ย้ำเบรก - หลังจากลุยน้ำเสร็จแล้ว ให้ทำการเหยียบเบรกเบาๆ 2-3 ครั้งขณะรถกำลังเคลื่อนที่ เพื่อเป็นการไล่น้ำที่เกาะอยู่บนจานเบรก ไม่อย่างนั้นแล้วรถอาจเกิดอาการเบรกไม่อยู่จนทำให้ไหลไปชนคันหน้าได้


Cr.sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น