วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ไม่ยอมหลบรถฉุกเฉินขณะเปิดไซเรน โทษแรงกว่าที่หลายคนคิด!

      หลายครั้งที่โลกโซเชียลมีการแชร์คลิปรถยนต์ขับขี่กีดขวางรถฉุกเฉินขณะรับ-ส่งผู้ป่วย บ้างถึงขนาดแกล้งเบรกใส่หวังให้ชนท้ายเลยก็มี พฤติกรรมเช่นนี้ตามกฎหมายแล้วมีความผิดอย่างไรบ้าง?


     พระราชบัญญัติจราจรบางบก มาตรา 76 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อเห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้สัญญาณแสงวับวาบหรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน ผู้ขับขี่ที่อยู่ด้านหน้าจำเป็นต้องให้ทางรถฉุกเฉินไปก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500 บาท


     แม้ว่าโทษปรับดังกล่าวจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับชีวิตของผู้ป่วยวิกฤตที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน แต่หากการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้เจ็บป่วยภายในรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาลถึงแก่ชีวิต ก็อาจเข้าข่าย “กระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้ขับขี่ในขณะนั้น ซึ่งมีโทษถึงขั้นจำคุก

เมื่อเจอรถฉุกเฉินต้องทำอย่างไร?

     รถฉุกเฉิน ไม่ได้หมายถึงรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถประเภทอื่นๆ เช่น รถดับเพลิง, รถตำรวจ, รถทหาร และรถประเภทใดๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งสัญญาณไฟวับวาบ (ไฟไซเรน) ได้อย่างถูกต้องตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย


     เมื่อใดก็ตามที่เจอรถฉุกเฉินขณะรับ-ส่งผู้ป่วยนั้น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 76 กำหนดแยกไว้เป็นแต่ละกรณีว่า


     1.สำหรับคนเดินเท้า ต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัยหรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด


     2.สำหรับผู้ขับขี่ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก


     3.ผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก


     โดยการปฏิบัติตามข้อ 2 และข้อ 3 จะต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี


ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น