วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทำให้ "พวงมาลัยลอก" จริงไหม?


     ในช่วงที่โรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดเช่นนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ "เจลล้างมือ" หรือ "เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ" เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ฆ่าเชื้อโรคในมือหลังจากทำภารกิจต่างๆ แต่ก็มีชิ้นส่วนหลายอย่างภายในรถที่อาจชำรุดเสียหายได้หากเกิดการสัมผัสกับเจลแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง

     โดยปกติแล้วเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ได้มาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อวัณโรค เชื้อรา และไวรัสบางชนิดได้

     อย่างไรก็ดี หลายคนทราบอยู่แล้วว่าแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนของวัสดุบางชนิดได้ เช่น วัสดุหนัง, ยาง และสารเคลือบต่างๆ ซึ่งพบได้ในห้องโดยสารของรถยนต์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย, หัวเกียร์, หนังหุ้มเบาะ, หนังหุ้มแผงประตู, แผงคอนโซล รวมถึงปุ่มกดต่างๆ ซึ่งแอลกอฮอล์จะทำให้สารเคลือบผิววัสดุหลุดออกได้ ส่งผลให้มีการหลุดล่อน, แห้ง หรือมีสีซีดจางลงจนเกิดความเสียหาย

2

     ดังนั้น หลังล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ควรอดใจรอให้มือแห้งสนิทก่อนจับพวงมาลัยหรือปุ่มกดต่างๆ ภายในรถ มิเช่นนั้นแล้วหนังหุ้มพวงมาลัยหรือปุ่มกดอาจหลุดลอกล่อนจนได้รับความเสียหายได้

     นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในการเช็ดชิ้นส่วนที่เป็นหนังหรือยาง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน ควรใช้เฉพาะกับชิ้นส่วนพลาสติกที่ไม่มีวัสดุเคลือบเท่านั้น หากจำเป็นต้องเช็ดชิ้นส่วนที่เป็นหนังหรือยาง เช่น พวงมาลัย,​ หัวเกียร์ และปุ่มกดต่างๆ ควรใช้ผ้าสะอาดกับน้ำเปล่าเช็ดจะดีที่สุดครับ

     หากสรุปง่ายๆ ก็คือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสามารถใช้ได้ปกติ แต่ต้องรอให้แห้งสนิทก่อนจับชิ้นส่วนภายในรถนั่นเอง

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น